วัดหลวง

วัดหลวงไชยสถาน เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ระหว่างถนนสายหลักเชียงของกับแม่น้ำโขง ตัววิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออกทางฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้บริเวณวัดสามารถมองเห็นทัศนียภาพน้ำโขงและฝั่งเมืองลาวได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงตอนเย็น อากาศเย็นสบาย ชมทิวทัศน์สายน้ำโขงสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์เป็นสีส้มสวยงามมาก

     ตำนานของวัดหลวงไชยสถาน สอดคล้องกับเรื่องราวของวัดพระแก้วเชียงของ หรือในอดีตชื่อว่า วัดศรีบุญยืน ทั้งสองวัดเป็นวัดสำคัญและมีความเก่าแก่ โดยจารึกบนฐานพระธาตุเจดีย์บอกว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 1979 ซึ่งตำนานพื้นเมืองของเมืองเชียงของได้บันทึกความเป็นมาของพระธาตุที่มีอายุยืนยาวเคียงคู่การกำเนิดเมืองเชียงของ โดยมีพุทธตำนานกล่าวเล่าไว้ว่า ในสมัยพระพุทธเจ้าเลียบโลกพร้อมพระอานนท์ได้เสด็จมาถึงทางฝั่งแม่น้ำโขง อันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านตำมิละ พระพุทธองค์ทรงมีพระเมตตาเทศนาธรรมให้กลุ่มชาวบ้านตำมิละถือศีลห้า พวกตำมิละก็เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา หลังเสร็จจากการเทศนาธรรมแล้วพระพุทธองค์ก็จะเสด็จไปสู่ที่อื่น พระองค์ได้ประทานพระเกศาธาตุให้พวกตำมิละ 2 องค์ พร้อมกำหนดสถานที่และวิธีการบรรจุพระเกศาธาตุให้แก่พวกตำมิละ ซึ่งเป็นที่มาของพระธาตุเจดีย์ วัดหลวงไชยสถานและวัดพระแก้วเชียงของในปัจจุบัน

       ในบันทึกประวัติการสร้างเมืองเชียงของโดยขุนภูนพิเลขกิจ กล่าวว่า ครั้งเจ้าอริยะ ได้สร้างองค์เจดีย์วัดหลวงไชยสถาน  และได้สร้างรูปกุมภัณฑ์ใหญ่รูปหนึ่งหลังอุโบสถ เมื่อพม่าเข้ามาตีเมืองเชียงแสนและเชียงของ เจ้าเมืองพร้อมชาวเมืองเชียงของได้อพยพหนีไปอยู่เมืองน่าน หลังจากพม่าสิ้นอิทธิพลในล้านนาแล้ว เจ้ารำมะเสน บุตรเจ้าอริยะได้มาบูรณะฟื้นฟูเมืองเชียงของ รวมถึงวัดหลวงไชยสถาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2424 ยอดเจดีย์ถูกฟ้าผ่าพังหักทลายลง เจ้าจิตวงษ์เจ้าเมืองเชียงของในขณะนั้นจึงได้ชักชวนชาวเมืองบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ขยายฐานให้ใหญ่และสูงขึ้นดังปัจจุบัน ในส่วนของพระวิหาร เจ้าจิตวงษ์ได้บูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2457 ศรัทธาวัดร่วมกันบูรณะใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2474 พระวิหารวัดหลวงไชยสถานและพระธาตุเจดีย์ได้อยู่เคียงคู่เมืองเชียงของจนเจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาตามลำดับ  นับได้ว่าเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านทั้งชาวเมืองเชียงของ รวมถึงพุทธศาสนิกชนชาวลาว มาไหว้พระธาตุร่วมกันกับคนในเวียงเชียงของทุกปี โดยได้ถือเอาวันวิสาขะบูชาเป็นวันไหว้พระธาตุมาแต่กาลก่อน